วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่สุดแห่งสยาม


วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้วมรกต เป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับ วัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นวัดในพระราชวังหลวงในสมัยอยุธยา และมีพระราชประสงค์ให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ที่นำมาจากกรุงเวียงจันทร์ แต่แท้ที่จริงแล้ว พบเจอวัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย และเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เพราะมีแต่ส่วนพุทธาวาสไม่มีส่วนสังฆาวาส
วัดพระศรีรัตนศาสดารามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด การบูรณะครั้งใหญ่ทั้งพระอาราม มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2425 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามในโอกาสที่มีพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี ในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอารามอีกครั้งใน พ.ศ. 2525 เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานในการบูรณะ

ตำนานพระแก้วมรกต


พระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่อมใสของผู้คนในภูมิภาคแหลมทองมาเป็นเวลานาน เริ่มตั้งแต่ดินแดนถิ่นนี้ยังเป็นอาณาจักรต่างๆ มิได้รวมกันเป็นประเทศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พอรวบรวมได้ว่าองค์พระแก้วมรกตสร้างขึ้นในประมาณ ปี พ.ศ. 500 โดยพระนาคเสนเถระ เมืองปาฏลีบุตร อินเดีย เข้ามาสู่ดินแดนของไทยครั้งแรกในอาณาจักรอโยธยา จากนั้นอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วเมืองชากังราวหรือกำแพงเพชร จากกำแพงเพชรได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วเชียงรายเป็นเวลา 45 ปี จากนั้นก็อัญเชิญลงมาประดิษฐานที่ลำปางอีก 32 ปี จากลำปางอัญเชิญขึ้นเหนือไปประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง จ. เชียงใหม่ เป็นเวลา 85 ปี จากเชียงใหม่ไปประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทร์ 225 ปี แต่เก่าก่อนตอนปลายสมัยอยุธยา เมืองเวียงจันทน์ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ครั้งเมื่อกรุงศรีอยุธยามีศึกหนักกับพม่าจนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ทางเวียงจันทน์ถือโอกาศแข็งเมืองแยกตัวเป็นอิสระ จนกระทั่งพระเจ้าตากกอบกู้เอกราชได้และตั้งราชธานีใหม่จึงได้ส่งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปตีเมืองเวียงจันทน์ให้กลับมาเป็นเมืองขึ้นเหมือนเดิม ศึกครั้งนั้นทัพของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาดจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับคืนสู่แผ่นดินไทย

ครั้งแรกเมื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมายังประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรีได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ที่วิหารน้อยวัดอรุณราชวราราม ประดิษฐานอยู่ที่วัดอรุณฯ เป็นเวลา 5 ปี

เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเมื่อชนะศึกเมืองเวียงจันทน์และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาก็เกิดความยินดี ดั่งว่าพระแก้วมรกตเป็นพระคู่บารมีคู่บ้านคู่เมือง ครั้นเมื่อสิ้นกรุงธนบุรีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นมหากษัตริย์ได้สำเร็จ และได้ตั้งเมืองขึ้นใหม่มีชื่อว่า กรุงรัตนโกสินทร์ นัยว่าเป็นชื่อที่มีที่มาจากพระแก้วมรกต กรุง แปลว่า เมือง รัตน แปลว่าแก้ว โกสินทร์ แปลว่าพระอินทร์ ซึ่งพระอินทร์จะมีองค์สีเขียว รวมระยะเวลาที่องค์พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2321 จนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 227 ปี

พระแก้วมรกต ท่านได้ไปประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใด ที่นั้นก็จะมีแต่ความสุขเจริญรุ่งเรือง เมื่อมีสิ่งศักดิ์อยู่คู่บ้านคู่เมืองของเราแล้วก็ขอเชิญท่านทั้งหลายไปกราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวท่านเอง


รอยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระแก้วมรกต
หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระแก้วมรกต มีทั้งเป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานทางโบราณคดี  ในส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นได้ปรากฎอยู่ในเอกสารโบราณมากมาย อาทิเช่น เรื่องรัตน์พิมพ์วงค์ ตำนานพระแก้วมรกต เรื่องพระรัตนปฏิมา ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์   พงศาวดารเหนือ ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา  ตำนานพระแก้วมรกตฉบับหลวงพระบาง และพงศาวดารโยนก เป็นต้น
จากเอกสารดังกล่าว  สามารถประมวลได้ว่า  พระแก้วมรกต สร้างขึ้นจากความดำริของพระนาคเสนเถระ  แห่งเมืองปาตลีบุตร  ในชมพูทวีป ( ประเทศอินเดียวในปัจจุบัน ) เมื่อประมาณ พ.ศ.500  จากนั้นก็ได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามเมืองสำคัญต่างๆ  ตามลำดับ  ดังนี้
  • เกาะลัง   เมื่อประมาณปี  พ.ศ. ๘๐๐
  • เมืองนครธม   ในอาณาจักรขอมโบราณ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๐๐
  • เมืองอโยชปุระ หรือเมืองอโยธยาโบราณ  ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช
  • เมืองกำแพงเพชร ในสมัยพระยะาวิเชียรปราการ
  • เมืองเชียงราย ในสมัยเจ้ามหาพรหม
  • นครเขลางค์ หรือเมืองลำปาง  ระหว่างปี ๑๘๗๙ - พ.ศ. ๒๐๑๑
  • เมืองเชียงใหม่   ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๑๑ - พ.ศ. ๒๐๙๖  ในสมัยพระเจ้าติโลกราช
  • เมืองหลวงพระบาง  ในปี พ.ศ. ๒๐๙๖
  • เมืองเวียงจันทร์  จนถึง พ.ศ. ๒๓๒๑
  • กรุงธนบุรี ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๑ - พ.ศ. ๒๓๒๗
  • กรุงเทพมหานคร  ตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๒๓๒๗  จนถึงปัจจุบัน
ด้านหลักฐานทางโบราณคดี  ปัจจุบันในภาคเหนือของประเทศไทยยังคงปรากฏร่องรอยในโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตอยู่อย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ ได้แก่
  • โบราณสถานวัดพระแก้ว ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
  • เจดีย์โบราณ  วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม  จังหวัดลำปาง
  • เจดีย์หลวง  ในวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่
  • เจดีย์โบราณ  ในวัดพระแก้ว  จังหวัดเชียงราย
เรื่องตำนานพระแก้วมีหลายฉบับอาจจะผิดพลาดในเรื่องของเวลาและการกำหนดปีพุทธศักราชอยู่บ้าง แต่สิ่งเป็นจริงที่แน่แท้ไม่ผิดเพี้ยนคือปัจจุบันนี้พระแก้วมรกต ประดิษฐานอยู่ในประเทศไทยของเรา ที่วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาติไทยมาช้านาน
สถานที่ต่างๆ ที่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตล้วนมีความสำคัญในแง่ของความศรัทธาและความเชื่อของผู้คนท้องถิ่น  อีกทั้งยังเป็นสถานที่ที่มีศิลปะที่งดงามในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น หากมีเวลาจึงขอเชิญชวนทุกท่านเดินท่องเที่ยวเยือนเมืองเหนือกราบรอยพระแก้วมรกตเพื่อความเป็นสิริมงคลและยังได้ท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ที่มีความสวยงามทั้งศิลปะวัฒนธรรมและธรรมชาติ

ข้อมูลโดย tourdoi.com



พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ประวัติพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อ. พระนคร จ. กรุงเทพมหานครพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) 


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้นพร้อมสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อแรกสร้างประกอบด้วย 3 ส่วน คือ พระมหาปราสาท พระราชมณเฑียรสถาน และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเนื้อที่ 132 ไร่ ในอดีตพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ลักษณะแบบแผนการก่อสร้างคล้ายคลึงกับพระบรมมหาราชวังเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาคือ มีวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ในบริเวณวังเหมือนกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เริ่มรับอิทธิพลจากตะวันตกทำให้สถาปัตยกรรมมีลักษณะผสมผสานกับทางตะวันตกมากขึ้นหมู่พระที่นั่งที่สำคัญมีดังนี้





พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เดิมชื่อพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท เป็นพระมหาปราสาท องค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี และพระบรมวงศานุวงศ์ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีการมงคล และบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ




พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท อยู่ใกล้กับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทใช้เป็นที่ประทับทรงพระราชพาหนะ และประทับเปลื้องเครื่องในงานพระราชพิธีที่มีขบวนแห่



.พระที่นั่งพิมานรัตยา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2332 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นที่บรรทม และทรงใช้เป็นที่ชุมนุมมหาสมาคมสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารฝ่ายในเข้ารับพระราชทานเครื่องอิสริยยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นที่สรงน้ำพระบรมศพพระบรมวงศานุวงศ์ก่อนที่จะประดิษฐานพระบรมโกศในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2419 ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะชั้นพระราชาธิบดี หรือชั้นประมุขของรัฐ นอกจากนี้ยังมีหมู่พระที่นั่งสำคัญอื่นๆ เช่น พระที่นั่งราชกรัณยสภา พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ฯลฯ




วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาที่สำคัญ วัดพระแก้วสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2327 และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-9 ตลอดทุกรัชกาล ภายในพระอุโบสถ และระเบียงรอบวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามมาก สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในวัดได้แก่ พระปรางค์ 8 องค์ พระศรีรัตนเจดีย์ ปราสาทนครวัดจำลอง ปราสาทพระเทพบิดร ฯลฯ



ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ และเหรียญกษาปณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระบรมมหาราชวังด้านขวามือก่อนถึงทางเข้าพระราชวังส่วนใน จัดแสดงเหรียญกษาปณ์ และเงินตราที่ใช้ในประเทศไทยรวมทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของสำนักฝ่ายใน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30–16.00 น. ค่าเข้าชม 10 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ส่วนจัดแสดง โทร. 0 2222 5864 ต่อ 18

พระบรมมหาราชวังเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30–15.30 น. ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม สำหรับชาวต่างประเทศเสียค่าเข้าชม ***250 บาท ซึ่งรวมบัตรเข้าชมศาลาเครื่องราชอิสริยยศและเหรียญกษาปณ์ และค่าเข้าชมพระที่นั่งวิมานเมฆ สอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 0 2224 3273 หรือ 0 2623 5500 ต่อ 3100 หรือ www.palaces.thai.net



***หมายเหตุ ตั้งแต่วันที่ 1กรกฏาคม 2551 สำนักพระราชวังปรับราคาค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างประเทศเป็น 300 บาท และ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ปรับราคาเป็น 350 บาท ทั้งนี้ผู้ซื้อบัตรสามารถเข้าชมนิทรรศการ "ศิลป์แผ่นดิน" ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพิ่มอีกแห่งหนึ่ง




ข้อมูลโดย พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม




แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น