![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhxI-t49xbHReFG11-0yFlF-TkEOy6Jw2YpWO_TWDfKH3rc3XyJ__kchBXCWKhTVQj65-suCWWPncLfDRIkfTlytZGkDwssmW3Joi1xLztPn-8H2QoX-6OIls8Oe_8JEMCHIkv-GkXMkIo/s1600/Tukkata_1.jpg)
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ตุ๊กตาดินเผาไทยที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏอยู่ในสมัยทวาราวดี รือในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 มักจะเป็นรูปคนจูงลิง ทำด้วยดินเผาสีแดง ตัวคนเป็นชาย มุ่นมวยผมไว้กลางศีรษะ นุ่งผ้าผืนเดียว มีลิงตัวน้อยๆ ที่ปลายเท้า สันนิษฐานว่าตุ๊กตาชนิดนี้อาจจะใช้เป็นของเล่นสำหรับเด็ก หรือใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา
ต่อมาในสมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ การสร้างสรรค์ตุ๊กตาดินเผาก็ยังปรากฏออกมาในรูปแบบต่างๆ กัน ตามลักษณะนิสัยของคนยุคนั้นๆ ตามคติความเชื่อ และตามประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน เป็นต้นว่าตุ๊กตาเสียกบาลซึ่งทำกันมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยสร้างขึ้นตามความเชื่อถือเพื่อปัดเป่าอันตรายแก่คนเจ็บหรือหญิงคลอดบุตรในครัวเรือน ตุ๊กตาล้มลุก ปั้นขึ้นสำหรับเป็นของเล่นของเด็กตุ๊กตาเจ้าพราหมณ์ ยังคงมีให้เห็นอยู่ตามชนบท ทำเพื่อนำไปแก้บนตั้งบูชาศาลเทพารักษ์ตุ๊กตาเคลือบดินเผาสมัยสุโขทัย ซึ่งปั้นเป็นรูปคนในอิริยาบถต่างๆ มีนักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่าคล้ายตุ๊กตาชาววังที่ชาวบางเสด็จทำกันอยู่ปัจจุบัน หากเป็นเช่นนั้นจริงนับว่าการทำตุ๊กตาชาววังของคนบางเสด็จจังหวัดอ่างทองได้รักษาแบบแผนวัฒนธรรมไทยเอาไว้อย่างดียิ่ง
ตุ๊กตาชาววัง สุนทรียศาสตร์พื้นถิ่นนของชาวบ้านในยุคนี้ถือกำเนิดขึ้นในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานทางตัวอักษรปรากฏสืบต่อกันมาว่าเถ้าแก่กลีบ ข้าราชการฝ่ายในในพระราชสำนัก เป็นผู้ริเริ่มผลิตขึ้น โดยปั้นตุ๊กตาชาววังออกจำหน่ายให้แก่ข้าราชบริพารภายในพระบรมมหาราชวังดังนั้น ลักษณาการตุ๊กตาชาววังในสมัยก่อนจึงลอกเลียนแบบมาจากวิถีชีวิต การแต่งกาย วัฒนธรรม ประเพณีของชาววังทุกประการ สมคำเปรียบเปรยว่ายามจะนั่ง ก็ท้าวแขนอ่อนช้อย เหมือนตุ๊กตาชาววัง ซึ่งจะเน้นความพิเศษที่ขนาดเล็กจิ๋ว บางตัวมีหัวเท่าไม้ขีดไฟการปั้นแต่ละตัว ผู้ปั้นต้องใช้ความละเอียดละเมียดละไมอย่างมาก ชาววังสมัยก่อนนิยมซื้อสะสมเป็นของรักของชอบ หรือไว้สำหรับตกแต่งประดับประดาบ้านเรือน
หัตถศิลป์ตุ๊กตาชาววังที่เคยเฟื่องฟูกลับซบเซาลงในรัชสมัยรัชกาลที่ 5เมื่อข้าราชบริพารบางคนย้ายออกไปจากพระบรมมหาราชวัง แล้วได้นำเอาศาสตร์นี้ติดตัวออกไปด้วย จึงไม่มีใครรู้รักจักทำต่อ ศิลปะการปั้นตุ๊กตาชาววังจึงจางหายไปนาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้รื้อฟื้นการปั้นตุ๊กตาชาววัง
ย้อนไปในราวปีพุทธศักราช 2519 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้รื้อฟื้นวิชาการปั้นตุ๊กตาชาววังขึ้นที่หมู่บ้านวัดตาล ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบางเสด็จ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอป่ามก จังหวัดอ่างทองพระองค์ท่านรับสั่งให้ชาวบ้านชาวนาในหมู่บ้านที่สนใจและต้องการมีอาชีพเสริม นอกเหนือจากการทำนา ใช้เวลาว่างมาเรียนรู้และฝึกฝนการทำตุ๊กตาชาววังจากครูในโครงการศิลปาชีพพิเศษ โดยขอใช้ศาลาการเปรียญของวัดท่าสุทธาวาส วัดเก่าแก่คู่บุญของจังหวัดอ่างทองเป็นสถานที่ฝีกหัด จึงถือว่าอาชีพการทำตุ๊กตาชาววังนับเป็นโครงการในพระบรมราชินูปถัมภ์ จากเอกสารคน-รูป-ดิน เครือซิเมนต์ไทยรักษ์ไทยจัดทำเพื่อสื่อมวลชนในการพาชมการประดิษฐ์ตุ๊กตาชาววังที่หมู่บ้านบางเสด็จ อาจารย์ฉวีวรรณ เมืองสุวรรณ อาจารย์ประจำโรงเรียนวัดท่าสุทธาวาส เขียนถึงเรื่องตุ๊กตาชาววังในช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถมีพระราชดำริส่งเสริมให้ราษฎรหารายได้ให้แก่ครอบครัวด้วยการปั้นตุ๊กตาชาววัง ไว้ตอนหนึ่งว่า
“ก่อนหน้านี้ธรรมชาติไม่เข้าข้างชาวไร่ชาวนาเอาเสียเลย ที่อ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงกิดฝนตกมากเกินความจำเป็นทำให้เกษตรกรอ่างทองได้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ดีติดต่อกันหลายปี จนกระทั่งเมื่อปี 2519 สมเด็จพระราชินีท่านเสด็จฯทอดพระเนตรหมู่บ้านแถบอำเภอป่าโมก ซึ่งขณะนั้นมีการทำธูปเป็นอาชีพเสริมพระองค์ท่านจึงรับสั่งว่าชาวอ่างทองน่าจะทำงานฝีมือชนิดอื่นได้เช่นกัน เพราะการทำธูปก็ต้องใช้ฝีมือในการปั้นเหมือนกัน W
จากวันนั้นเป็นต้นมา ชื่อหมู่บ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทองคือแหล่งผลิตตุ๊กตาชาววังที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงแพร่หลายขจรขจายไปไกลทั่วโลก
ศิลปินผู้ประดิษฐ์ ตุ๊กตาชาววัง
ศิลปินผู้ประดิษฐ์ คือ นางเเฉ่ง สาครวาสี (สกุลเดิม สุวรรณโน)
ตุ๊กตาชาววังของนางแฉ่ง สาครวาสี มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
ตุ๊กตาชาววังมี 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่นิยมกันมากคือขนาดเล็กซึ่งสูงประมาณ 2 เซนติเมตร ขนาดใหญ่จะสูงประมาณ 4 เซนติเมตร ปั้ นเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กกำลังนั่งและคลาน ท่านั่งเอน นอนคว่ำ ตะแคง คุกเข่า ประมาณอย่างละ 8 ท่า ส่วนเด็ กเล็กนั้น มีที่ไว้ผมแกละ ผมจุก และผมเปีย ส่วนผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงนั้นมีลักษณะพิเศษคือแต่งกายอย่างชาวเหนือ ที่เป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าพระวรชายาเจ้าดารารัศมียังคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง
นอกจากตุ๊กตาเดี่ยวแล้ว ยังมีตุ๊กตาชุดตามเรื่องในวรรณคดี มีทั้งรามเกียรติ์ ละครนอกและละครใน การปั้นตุ๊กตาจะปั้นขาก่อน แล้วจึงขึ้นตัวส่วนตัวนั้นมีพิมพ์กดเอาไว้ เสร็จแล้วนำดินไปผึ่งให้แห้ง ต้องระวังไม่ให้ถูกแดดจัด เพราะถ้าถูกแดดจัด ดินจะร้าว เสร็จแ ล้วจึงนำไปเผาในเตาถ่านที่ใช้หุงต้มอาหารในครัวเชื้อเพลิงคือแกลบ เผาแล้วสุมไว้ตลอดคืน เพื่อให้ตุ๊กตาเย็นสนิท ต่อไปจึงนำตุ๊กตานั้นมาลงสีผิวโดยใช้ฝุ่นผัดหน้าที่เรียกว่าฝุ่นจีนมาละลายน้ำจนข้น แล้วจึงแต่งหน้า ทาปาก เขียนเสื้อผ้าใช้สีตามความนิยมของชาววัง โดย เฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าของผู้ใหญ่ ผู้หญิงจะต้องนุ่งห่มสีตัดกันตามวัน
ช่างพื้นบ้านงานหัตถกรรมตุ๊กตาชาววัง
ปัจจุบัน การทำตุ๊กตาดินเหนียวระบายสีของคนบางเสด็จเพียงไม่กี่สิบครัวเรือนยังคงนั่งประดิษฐ์กันอยู่ที่ใต้ถุนเรือน เริ่มจากวิธีการเตรียมดินขุดดินเหนียวคุณภาพดีแถบทุ่งนาหลังวัดสุทธาวาสหรือภายในตำบลบางเสด็จลึกประมาณ 2 เมตร นำมาตากแดดให้แห้ง ทุบเป็นก้อนเล็กๆ แช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืน เพื่อร่อนเอากรวดหินทรายออกโดยใช้ผ้ามุ้งกรอง หากบี้ดูแล้วดินเนียนติดนิ้วถือว่าใช้ได้ จากนั้นปั้นเป็นแผ่น ผึ่งลมให้ดินหมาดแล้วปั้นเป็นก้อนกลมๆ เก็บไว้ในถุงพลาสติกมัดปากถุงมิดชิดกันลม นำออกมาใช้เท่าที่ต้องการในแต่ละครั้งการปั้นตุ๊กตาชาววังยุคนี้ไม่ใช้เวลานานเหมือนสมัยโบราณเหตุเพราะว่ามีแม่พิมพ์ที่สร้างขึ้นจากปูนปลาสเตอร์ทั้งส่วนหัวและส่วนลำตัว
โดยเทดินเหนียวหล่อเข้ากับแม่พิมพ์ส่วนแขนและขานั้นปั้นได้ไม่ยากเพียงคลึงดินบนฝ่ามือให้มีลักษณะเรียวแหลมตอนปลายทั้งสองข้าง ขนาดคล้ายเส้นลอดช่อง โดยจะหักพับงออย่างใดก็ได้แล้วแต่ท่าทางตามต้องการ และนำไปต่อติดกับส่วนลำตัวหลังจากนั้นจึงนำส่วนหัวและลำตัวที่สมบูรณ์แล้วมาต่อติดกัน ตกแต่งนิ้วมือนิ้วเท้าอีกสักเล็กน้อยวางผึ่งลมให้ดินแห้งสนิทอีก 1 วัน และนำเข้าเตาเผา สมัยก่อนนิยมเผาด้วยเตาอั้งโล่ซึ่งมีกรรมวิธีที่ยุ่งยากซับซ้อนเสียเวลามาก แต่ปัจจุบัน เผาด้วยเตาอบขนาดใหญ่ที่มีอุณหภูมิคงที่ จะได้ผลที่ดีกว่ามากและเสียเวลาน้อยกว่าด้วย เมื่อเผาเสร็จแล้ว ตุ๊กตาเย็นลงทาสีน้ำมันให้ทั่วตัวเพื่อความเนียนสวยงาม พร้อมกับเติมลวดลาย สีสันใบหน้าการแต่งกายให้วิจิตรบรรจงดูมีชีวิตชีวาด้วยฝีมือและจินตนการของผู้ปั้นประดิษฐ์
ตุ๊กตาชาววังที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนมีหลากแบบหลายอิริยาบถ มีรายละเอียดเรื่องราวแวดล้อมมากขึ้นกว่าแค่ปั้นตัวคนเพียงอย่างเดียว ดังเช่นชุดตลาดน้ำที่แม่ค้าคนพายบรรทุกผลหมากรากไม้ไว้เต็มลำเรือ ชุดวงดนตรีไทยที่รู้จักกันว่าวงมโหรีปี่พาทย์ชุดการละเล่นพื้นบ้านไทย เหล่านี้เป็นต้น
ตุ๊กตาชาวหวังกับชีวิตคนไทย
จากวิวัฒนาการของการปั้นตุ๊กตาชาววังตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 มาเป็นตุ๊กตาที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในชนบท และคนหลากหลายอาชีพในสังคมไทย นี่คือเครื่องยืนยันฝีมือและความคิดสร้างสรรค์เชิงศิลปะอย่างง่ายๆ ของผู้คนชาวไร่ชาวนาซึ่งใคร่เรียกขานเขาเหล่านี้ว่าช่างพื้นบ้าน หรือศิลปชีวิต อันหมายถึง ผู้ทำการหาเลี้ยงชีพทางการช่างฝีมือดุจดัง คุณยายอารมณ์ ช่างปั้นตุ๊กตาชาววัง อายุราวๆ 70 ปีเศษ ที่ทำตุ๊กตาชาววังเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมานานนับ 24 ปี คุณยายบอกว่าภูมิใจมากกับอาชีพที่ทำอยู่ เป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว ช่วยส่งบุตรทุกคนเรียนจนจบการศึกษา
การปั้นตุ๊กตาชาววัง เราต้องการความเรียบร้อย ความสวยงาม ไม่ว่าจะขายราคา 5 บาท หรือราคาเรือนหมื่นก็ต้องมีความปราณีตบรรจงเหมือนๆ กัน ยิ่งถ้าปั้นชุดใหญ รายละเอียดมาก เช่น ปั้นจากบางฉากในเรื่องราววรรณคดีไทย งานประเพณีไทยอย่างงานบวชนาค สะท้อนภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างวิธีการคลอดบนกระดานไฟหรือการทำไร่ไถนา รูปแบบเหล่านี้ราคาจะสูงเพราะเราต้องใช้ความคิดมาก ถ้าไม่สามารถศึกษาจากภาพได้ ก็ต้องใช้จินตนาการบวกกับประสบการณ์ที่เคยเห็นมาด้วยตนเองแต่มีบางครั้งที่ลูกค้าสั่งมาเฉพาะเลยว่าต้องการรูปแบบใด ยกตัวอย่าง มีหน่วยราชการหนึ่งเขาสั่งให้เราปั้นเรื่องรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินที่จังหวัดกำแพงเพชร เขาเอารูปภาพมาให้เราดูด้วย เราก็ต้องปั้นรายละเอียดต่างๆ ให้เหมือนรูปภาพนั้น เธอยังบอกอีกว่าในแต่ละปีต้องเปลี่ยนแบบ เปลี่ยนเรื่องราวไม่ให้ซ้ำ โชคดีที่เกิดมาทันเห็นวิถีความเป็นอยู่ ขนบวัฒนธรรมดั้งเดิม จึงพอจดจำได้และที่สำคัญต้องมีใจรักในงานศิลปะอย่างแท้จริง
ส่วนมากที่ยังทำกันอยู่จะมีอายุ 30-50 ปี เด็กรุ่นหลังอายุน้อยๆ มักไม่ค่อยสนใจ คือต้องอยู่ที่ใจรัก ถ้าใจไม่รักจะทำไม่ได้เลย เพราะมันมีหลายขั้นตอนที่กระจุกกระจิกมากอย่างที่ดิฉันทำมาทุกวันนี้ก็เพราะใจรักในงานอาชีพและเกิดจากแรงบันดาลใจที่พระราชินีท่านทรงส่งเสริมให้มีอาชีพนี้ขึ้นมา จดจำเสมอว่าเรามีอาชีพอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะพระองค์ท่าน ซึ่งรายได้เฉลี่ยต่อเดือนจากงานในอาชีพที่รักของคุณรุจี วิจิตรานุรักษ์ เธอกระซิบว่าตกประมาณ 7,000-10,000 บาท นับว่าเป็นตัวเลขที่ดีมิใช่น้อยสำหรับชาวบ้านยุคสมัยนี้
บทสรุปของเรื่อง อยากหยิบยกถ้อยความจากหนังสือ ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยผู้เขียนรองศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณกล่าวถึงงานหัตถกรรมช่างพื้นบ้านผ่านตัวหนังสือที่เรียบง่ายแต่น่าอ่าน
งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านเป็นผลผลิตของช่างฝีมือธรรมดาๆ มิใช่เกิดจากฝีมือของศิลปินชั้นเยี่ยมแต่อย่างใด คุณค่าทางศิลปะและคุณภาพของงานเกิดจากการทำเป็นจำนวนมากเป็นหลัก เพราะโดยทั่วไปช่างพื้นบ้านจะไม่แสดงออกถึงลักษณะเฉพาะตนและพลังในการสร้างสรรค์มากหมือนกับการสร้างงานศิลปกรรมของศิลปินด้านวิจิตรศิลป์ ทั้งนี้มิใช่เพราะ ช่างพื้นบ้านขาดคุณสมบัติดังกล่าว แต่เป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ต่างกัน ลักษณะของการสร้างสรรค์และลักษณะเฉพาะของช่างพื้นบ้านจะปรากฏออกโดยผ่านประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จากชั่วคนหนึ่งไปสู่อีกชั่วคนหนึ่ง เป็นเวลานับร้อยปี สิ่งเหล่านี้จะประสานกับความเชื่อถือที่อยู่ในจิตใจของช่างพื้นบ้านแล้วแสดงออกมาในงานของเขา
อย่างไรก็ตาม ช่างพื้นบ้านฝีมือดีจำนวนไม่น้อยที่มีความสุขใจได้สร้างสรรค์งานที่ตนถนัดและมีความรักในงานของตนเป็นพื้นฐาน โดยมิได้คำนึงถึงค่าตอบแทนและชื่อเสียงแต่อย่างใด หากต่ต้องการให้งานของตนมีความสมบูรณ์และมีความสุขที่ได้แสดงฝีมือของตนอย่างดีที่สุดเท่าที่จะฝากไว้กับงานนั้นๆ น่ายกย่องว่าเขามิใช่คนธรรมดาสามัญที่สร้างงานเพียงเพื่อการใช้สอยธรรมดาเท่านั้น แต่เขาได้ฝากฝีมือ คุณค่าทางศิลปะ และความงามลงไปด้วย ดุจเดียวกับ ศิลปชีวิตตุ๊กตาชาววัง จากก้อนดินเหนียวท้องนาสีขุ่นมัว ขุดขึ้นมาปั้นแต่งระบายสีให้เป็นตุ๊กตาที่มีใบหน้าคมงาม ท่วงท่าลีลาอ่อนช้อย สวมใส่เสื้อผ้าสวยปราณีตด้วยปลายพู่กัน บ่งบอกถึงคุณค่าแห่งศิลปวัฒนธรรมไทย หลากหลายเรื่อราวอันมีที่มาแต่โบราณกาล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
0 ความคิดเห็น